เป็นโรคซึมเศร้าที่เกิดกับผู้สูงวัยที่มีอายุประมาณ 60 ปีขึ้นไป พบได้ 10-20% และมักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาการของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงจนถึงขั้นมีอาการจิตหลอนและฆ่าตัวตายได้ เกิดจากสารสื่อประสาท สภาพแวดล้อม และเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจ

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก doctorraksa.com

สาเหตุของการเกิดโรคซึมเศร้า

มีหลากหลายสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคซึมเศร้า ไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่าเกิดจากสาเหตุใดอย่างชัดเจนในผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งสาเหตุที่เป็นไปได้ก็คือ

  • สารเคมีในสมอง: โรคซึมเศร้าเกิดจากการขาดสมดุลของสารเคมีในสมอง ซึ่งประกอบด้วย 3 ชนิด คือ ซีโรโทนิน (Serotonin) โดพามีน (Dopamine) และนอร์เอพิเนฟริน (Norepinephrine)
  • กรรมพันธุ์: โรคซึมเศร้าสามารถเกิดจากการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม หากครอบครัวไหนที่มีผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า คนในครอบครัวก็มีโอกาสเป็นได้เช่นกัน เช่น ฝาแฝดที่คนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า อีกคนจะมีโอกาสเป็นถึง 60 – 80% หรือหากพ่อแม่พี่น้องแท้ๆ เป็น เราก็มีโอกาสเป็นได้ 20% แต่ยังไม่มีการยืนยันว่า โรคซึมเศร้าเกิดจากยีนส่วนไหนที่ส่งผลให้เกิดโรค
  • นิสัยส่วนตัว: ผู้ที่มีความไม่มั่นใจหรือคิดว่าตัวเองไม่มีคุณค่า (Low Self-esteem) รวมถึงมองโลกในแง่ลบ คิดในแง่ร้าย มีโอกาสสูงที่จะเป็นโรคซึมเศร้า
  • สภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์: คนที่เคยเจอเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การหย่าร้าง การแยกจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก การถูกทำร้าย หรือการตกงาน รวมถึงแรงกดดันอื่นๆ มีแนวโน้มเป็นโรคซึมเศร้า

นอกจากสาเหตุหลักๆ 4 อย่างนี้ ยังมีสาเหตุอื่นอีก เช่น เกิดจากภาวะหลังคลอด ภาวะก่อนมีประจำเดือน รวมถึงความเครียด แอลกอฮอล์ การใช้สารเสพติด การเป็นโรคบางอย่างและการกินยาบางตัว ทั้งหมดนี้สามารถส่งผลให้เกิดโรคซึมเศร้าได้

อาการของโรคซึมเศร้า

ผู้ที่เป็นโรคซึมเศร้ามีอาการที่บ่งบอกหลายอย่าง ซึ่งรวมถึงอาการที่คล้ายกับโรคจิตเวชอื่นๆ บางอาการก็เกิดขึ้นเพียงระยะเวลาสั้นๆ เป็นภาวะซึมเศร้าที่สามารถหายได้เอง มาดูกันว่าคนเป็นโรคซึมเศร้าจะมีอาการอย่างไร และเงื่อนไขของอาการต่างๆ มีอะไรบ้าง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดังต่อไปนี้เกิดขึ้นอย่างน้อย 5 ข้อ

  • รู้สึกเศร้า อยากร้องไห้ เคว้งคว้าง หรือไร้ความหวัง อาการเกิดขึ้นบ่อยๆ ใน 1 วัน
  • รู้สึกหงุดหงิด ไม่พอใจ หรือโกรธกับเรื่องเล็กๆ น้อยๆ
  • รู้สึกขาดความสนใจ ไม่อยากทำหรือไม่สนุกกับกิจกรรมที่ชอบ หรือกิจวัตรปกติที่เคยทำ
  • มีอาการเบื่ออาหาร หรือต้องการทานอาหารมากขึ้น ส่งผลให้น้ำหนักเพิ่มและลดลงจากปกติ
  • รู้สึกนอนหลับยาก นอนน้อย หรืออยากนอนมากกว่าปกติ
  • รู้สึกร้อนรน วิตกกังวล และกระสับกระส่าย
  • รู้สึกเหนื่อยล้า หรือไม่มีพลังทำกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน
  • รู้สึกไร้ค่าและรู้สึกผิดกับตัวเองหรือสิ่งที่ทำ ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยรู้สึกแบบนี้มาก่อน
  • ความสามารถในการจดจ่อ การคิด การตัดสินใจ และความจำลดลง
  • คิดอยากทำร้ายร่างกายตัวเอง หรืออาจรุนแรงถึงขั้นคิดฆ่าตัวเอง

ซึ่งอาการเหล่านี้จะแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจน และปรากฏในชีวิตประจำวัน ส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรม การเรียน การทำงาน และการเข้าสังคมหรือความสัมพันธ์กับผู้อื่น รวมถึงรู้สึกผิดหวัง เศร้า หรือไม่มีความสุขโดยไม่ทราบสาเหตุ

นอกจากนี้ยังมีอาการที่แสดงออกทางร่างกายอื่นๆ อีก เช่น เคลื่อนไหวหรือพูดช้าลง ท้องผูก เจ็บหรือปวดตามร่างกายแบบไม่ทราบสาเหตุ เหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แรงขับทางเพศ (Labido) ลดลง ประจำเดือนมาไม่ปกติ

ความเศร้าที่เป็นอยู่ คือ อารมณ์เศร้า ภาวะซึมเศร้า หรือโรคซึมเศร้า?

  • อารมณ์เศร้า เป็นสภาวะอารมณ์ที่เป็นหนึ่งในอาการของภาวะเศร้าและโรคซึมเศร้า เช่น หดหู่ ไม่เบิกบานใจ หม่นหมอง ฯลฯ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเศร้าในช่วงเช้า และค่อยๆ ดีขึ้นตอนเย็น จนหายไปเอง
  • ภาวะซึมเศร้า เป็นภาวะที่มีอาการเศร้า เสียใจ รู้สึกว่างเปล่าเป็นเวลานานติดต่อกัน แม้จะได้รับคำปลอบใจหรือพูดคุยกับผู้อื่นก็ไม่รู้สึกดีขึ้น อาจเกิดจากการเผชิญการสูญเสีย หรือความรุนแรงทางร่างกาย
  • โรคซึมเศร้า เป็นโรคที่มีอาการเศร้าอย่างเห็นได้ชัด เป็นซ้ำๆ วนๆ นานหลายสัปดาห์ ไม่มีแรงกายแรงใจในการทำงาน เรียน หรือเข้าสังคม และเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย อย่างการนอนหลับยาก หรือนอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ เบื่ออาหารหรืออยากอาหารมากกว่าปกติ

อาการที่บ่งบอกว่าถึงเวลาต้องไปพบแพทย์

เมื่อรู้สึกเศร้า หดหู่ ไม่มีความสุขเหมือนเคย ไร้เป้าหมาย มีอารมณ์เหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ ประมาณ 2 สัปดาห์ขึ้นไป ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อรักษา ไม่ว่าจะเป็นการใช้ยาหรือการทำจิตบำบัดเพื่อให้อาการดีขึ้น

การรักษาโรคซึมเศร้า

โรคซึมเศร้าเป็นโรคทางจิตเวชที่สามารถรักษาได้ โดยผู้ป่วยประมาณ 80-90% ที่ตอบสนองต่อการรักษาโดยจิตแพทย์ และผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการดีขึ้นหลังจากได้รับการรักษา หลังจากแพทย์วินิจฉัยว่าผู้ป่วยมีอาการโรคซึมเศร้า จะมีวิธีรักษาตามความรุนแรงของโรค ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์

ระยะเวลาที่ใช้ในการรักษา

โรคซึมเศร้าจะใช้เวลาในการรักษาแตกต่างกันในแต่ละเคส อย่างน้อย 2-6 สัปดาห์หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับผลของการักษา หากวิธีการหรือตัวยาดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์อาจมีการปรับเปลี่ยนวิธีการและตัวยาในการรักษา จึงต้องใช้เวลามากขึ้น

ดูแลตัวเองอย่างไรเมื่อเป็นโรคซึมเศร้า

ไม่ว่าจะเป็นภาวะซึมเศร้าหรือโรคซึมเศร้า ผู้ป่วยจำเป็นต้องดูแลตัวเองควบคู่กับการเข้ารับการรักษาจากแพทย์ เพื่อลดอาการของโรค ดังนี้

  • ทำตามที่แพทย์แนะนำอย่างเคร่งครัด ควรพบจิตแพทย์ทุกครั้งที่มีนัด แม้ว่าตอนนั้นเราจะรู้สึกดีขึ้นแล้วก็ตาม รวมถึงทานยาตามที่แพทย์สั่ง หากไม่ทำตามอาจทำให้อาการกำเริบได้
  • พยายามศึกษาเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า การที่เราศึกษาเกี่ยวกับโรคและทำความเข้าใจ ช่วยทำให้เรารู้จักอาการต่างๆ ดีขึ้น และช่วยให้เกิดแรงผลักดันในการรักษา
  • เฝ้าระวังสัญญาณของโรคซึมเศร้า สามารถสอบถามแพทย์ผู้ดูแลหรือนักจิตบำบัดว่าอะไรคือสัญญาณบ่งบอกถึงโรคซึมเศร้า จะได้สังเกตอาการของตัวเอง และบอกเพื่อนหรือคนรอบข้างให้ช่วยสังเกตได้
  • งดแอลกอฮอล์และสารเสพติดทุกชนิด เนื่องจากบางรายเป็นโรคซึมเศร้าจากการเสพสารเสพติดหรือติดแอลกอฮอล์ การกลับไปใช้หรือดื่มจะทำให้อาการแย่ลง และทำให้การรักษาจนหายขาดยากยิ่งขึ้น
  • ดูแลตัวเอง การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยซึมเศร้าคือ การกินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ออกกำลังกาย และนอนหลับอย่างเพียงพอ เพราะกิจกรรมเหล่านี้ส่งเสริมให้สุขภาพจิตดีขึ้น รวมถึงการพยายามหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลาย อย่างการฟังเพลง วาดภาพ การนวด หรือทำกิจกรรมอื่นๆ ที่ชอบ การเข้าสังคม พบปะพูดคุยกับเพื่อนและคนใกล้ชิด

วิธีให้กำลังใจและอยู่เคียงข้างผู้ป่วยโรคซึมเศร้า

  • ใช้คำพูดที่ให้กำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่คนรอบข้างต้องทำความเข้าใจ อย่างการพูดว่า “ฉันอยู่ข้างๆ เสมอ” แทนที่จะพูดว่า “เลิกคิดมากได้แล้ว”
  • รับฟังในสิ่งที่ผู้ป่วยพูดหรือตั้งคำถาม ผู้ฟังไม่จำเป็นจะต้องให้คำตอบ แค่แสดงถึงการรับฟังที่จริงใจก็พอ
  • เสนอความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเล็กๆ น้อยๆ อย่างการสั่งอาหารให้ หรือเสนอตัวออกไปข้างนอกเป็นเพื่อน ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอุ่นใจและได้เข้าสังคม
  • ศึกษาอาการ สัญญาณที่บ่งบอกโรคซึมเศร้า และวิธีปฏิบัติต่อคนที่เป็นโรคซึมเศร้า
  • ดูแลจิตใจของตัวเองด้วยเพราะการอยู่กับผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนรอบข้างอาจได้รับผลกระทบด้านจิตใจไปด้วย

การป้องกันโรคซึมเศร้า

นอกจากดูแลสุขภาพกายแล้วก็จำเป็นต้องดูแลสุขภาพจิตไปด้วย เพราะทั้งสองส่วนส่งผลซึ่งกันและกัน เราสามารถป้องกันตัวเองหรือลดความเสี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้าได้ ดังนี้

  • กำจัดความเครียด แม้จะเป็นสิ่งที่ยากสำหรับบางคน รวมถึงมีปัจจัยทางพันธุกรรมที่กระตุ้นให้เกิดความเครียด แต่การเรียนรู้ที่จะรับมือเป็นสิ่งสำคัญ เพราะความเครียดสะสมสามารถนำไปสู่โรคซึมเศร้าได้
  • หมั่นออกกำลังกาย มีการศึกษาที่ระบุได้ว่าการออกกำลังกายช่วยลดอาการซึมเศร้าได้ ดังนั้นการออกกำลังกายหรือหากิจกรรมต่างๆ ทำ ช่วยเลี่ยงการเกิดโรคซึมเศร้าได้
  • ใส่ใจเรื่องอาหาร โดยเฉพาะการทานผักและผลไม้สด เนื่องจากในอาหารเหล่านี้มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ช่วยลดการเกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่น (Oxidation) หรือการทำลายเซลล์และส่งผลให้เกิดความเครียด อาหารจึงเป็นส่วนช่วยลดโอกาสเกิดโรคซึมเศร้าได้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ เนื่องจากการนอนไม่หลับ (Insomnia) มีความเชื่อมโยงในการก่อให้เกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้นการป้องกันโรคคือ การนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ หากเป็นโรคนอนไม่หลับสามารถปรึกษาแพทย์ได้
  • งดแอลกอฮอล์และสารเสพติด สองสิ่งนี้ถือเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้า ดังนั้นควรงดทั้งแอลกอฮอล์และสารเสพติด
  • เลี่ยงสิ่งกระตุ้น โดยสิ่งกระตุ้นอาจอยู่รอบๆ ตัว เช่น การดูหนังบางเรื่อง การอ่านข่าวที่สะเทือนใจ การเล่นโซเชียลมีเดียที่มีคำพูดในแง่ลบต่างๆ

คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวข้องกับโรคซึมเศร้า

1. โรคซึมเศร้าหายเองได้ไหม?

ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย หลักๆ คือ ชนิดของโรคซึมเศร้า ระดับความรุนแรงของโรค และปัจจัยแวดล้อมผู้ป่วย ทั้งนี้การที่โรคจะหายได้เองอย่างแรกผู้ป่วยต้องรับรู้ว่าตัวเองมีอาการและพยายามรักษา หรือปรับตัวเพื่อไม่ให้เกิดอาการของโรค โรคซึมเศร้าที่ไม่รุนแรงก็จะหายไปได้ แต่หากเป็นโรคซึมเศร้าขั้นปานกลางถึงรุนแรง ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อทำการรักษาอย่างถูกต้อง

2. โรคซึมเศร้าหายขาดได้ไหม?

โรคซึมเศร้าสามารถหายขาดได้ ไม่เหมือนโรคจิตเวชอื่นๆ ที่หากรักษาหายแล้วก็ยังคงมีอาการหลงเหลืออยู่บ้าง ทั้งนี้โรคซึมเศร้าเองก็สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้อีกเช่นกัน ขึ้นอยู่กับมุมมองความคิดของผู้ป่วย สภาพแวดล้อม แรงกดดันต่างๆ หรืออาจมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้นในชีวิต

3. วิธีรักษาโรคซึมเศร้าด้วยตัวเอง?

  • อย่าตั้งเป้าหมายที่ยากหรือสูงเกินไป ควรตั้งเป้าหมายที่ท้าทายขึ้น แต่อยู่ในขอบเขตความสามารถ ทั้งเรื่องงาน เรื่องเรียน และเรื่องส่วนตัว เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกล้มเหลวในภายหลัง
  • เมื่อเจอปัญหาใหญ่ ให้พยายามแยกปัญหาออกมาเป็นข้อย่อยตามลำดับความสำคัญ และค่อยๆ แก้ไปทีละขั้นตอน
  • พยายามหากิจกรรมที่สามารถทำร่วมกับผู้อื่น เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างทำให้รู้สึกดีขึ้นได้
  • กิจกรรมที่เลือกทำ ควรเป็นกิจกรรมที่ผ่อนคลาย หรือทำแล้วรู้สึกดีมีคุณค่า เช่น การดูหนัง อ่านการ์ตูน หรือเก็บเสื้อผ้าไปบริจาค ฯลฯ
  • ในระหว่างที่เป็นโรคซึมเศร้า ควรเลี่ยงการตัดสินใจครั้งใหญ่สำหรับชีวิต อย่างการหย่าร้าง หรือลาออกจากงาน หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ปรึกษากับคนสนิทที่ไว้ใจได้ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน ญาติ หรือแพทย์
  • พยายามทำความเข้าใจโรค ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้ป่วยเองและคนรอบข้าง เพื่อจะได้รู้ทันและเลี่ยงความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งการรับรู้พฤติกรรมของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นระหว่างมีอาการ

หากคนที่คุณรักมีอากรซึมเศร้า iHealth Nurse Care เราช่วยคุณได้📌📌
✅ มีเพื่อนรุ่นเดียวกันได้ทำกิจกรรมเพลิดเพลิน
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ชีวิตของตัวเอง
เพื่อลดภาวะเครียดหรือซึมเศร้าหลังวัยเกษียณ😊😊😊

เรายินดีให้คำปรึกษาฟรี
iHealth Nurse Care เราห่วงใยคุณ ดูแลคนที่คุณรักดุจดังญาติมิตร