คุณรู้หรือไม่…. การลดภาวะแทรกซ้อนของความดันโลหิตสูงคืออะไร👵🏻

ก่อนอื่นมาทำความรู้จักภาวะความดันโลหิตสูงกันก่อนนะคะ

✨โรคความดันโลหิตสูง (Hypertension, High blood pressure)✨

ความดันโลหิตสูง, ความดันเลือดสูง, ความดันสูง หรือที่แพทย์บางท่านเรียกว่า ภาวะความดันโลหิตสูง หมายถึง ภาวะที่ความดันช่วงบนมีค่าตั้งแต่ 130 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป และ/หรือความดันช่วงล่างมีค่าตั้งแต่ 80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ซึ่งโดยมากผู้ป่วยจะมีความดันช่วงล่างสูง (Diastolic hypertension) โดยที่ความดันช่วงบนจะสูงหรือไม่ก็ได้ แต่บางรายอาจมี ความดันช่วงบนสูงเพียงอย่างเดียว แต่มีค่าความดันช่วงล่างไม่สูงก็ได้เช่นกัน เรียกว่า “ความดันช่วงบนสูง เดี่ยว” (Isolated systolic hypertension – ISHT) ซึ่งนับว่าเป็นอันตรายไม่น้อยไปกว่าความดันช่วงล่างสูง และผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างจริงจัง

โรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโรคหนึ่งในผู้ใหญ่ โดยพบได้สูงถึงประมาณ 25-30% ของ ประชากรโลกที่เป็นผู้ใหญ่ทั้งหมด พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง และจะพบได้สูงขึ้นในผู้สูงอายุ
(ในบางประเทศ พบโรคความดันโลหิตสูงได้สูงถึง 50% ของผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป)
ส่วนในเด็กก็สามารถพบเป็นโรคนี้ได้ เช่นกัน แต่จะพบได้น้อยกว่าในผู้ใหญ่มาก

ต่อไปจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาการและแนวทางป้องกันโรคความดันโลหิตสูง
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และ โรงพยาบาลพญาไท มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ

ความดันโลหิตสูงมีกี่ชนิด

ความดันโลหิตสูง สามารถจำแนกตามสาเหตุการเกิดได้เป็น 2 ชนิด คือ

  1. ความดันโลหิตสูงชนิดไม่ทราบสาเหตุ (primary or essential hypertension)
  2. พบได้ประมาณ 95% ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงทั้งหมด ส่วนใหญ่พบในผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชายแม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตามคณะกรรมการร่วมแห่งชาติด้านการประเมินและรักษาโรคความดันโลหิตสูงของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องและทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง ได้แก่ กรรมพันธุ์ ความอ้วน การมีไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารที่มีรสเค็มจัด การไม่ออกกำลังกาย การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่ ความเครียด อายุที่มากขึ้น และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด
  3. ความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ (secondary hypertension)

พบได้น้อย คือประมาณ 5-10% ส่วนใหญ่เกิดจากการมีพยาธิสภาพของอวัยวะต่างๆ ในร่างกาย โดยจะส่งผลให้เกิดแรงดันเลือดสูง ส่วนใหญ่อาจเกิดจากพยาธิสภาพที่ไต ต่อมหมวกไต โรคหรือความผิดปกติของระบบประสาท ความผิดปกติของฮอร์โมน โรคของต่อมไร้ท่อ โรคครรภ์เป็นพิษ การบาดเจ็บของศีรษะ การใช้ยาและการถูกสารเคมี เป็นต้น

ทั้งนี้เมื่อแพทย์ตรวจพบว่าเกิดจากสาเหตุใด การรักษาที่สาเหตุก็จะทำให้ระดับความดันโลหิตจะลดลงเป็นปกติได้

อาการของโรคความดันโลหิตสูง

อาการของโรคความดันโลหิตสูง ปรากฏได้หลายอย่าง ดังนี้

  1. ปวดศีรษะ
  2. เวียนศีรษะ (dizziness) มักพบว่าเกิดร่วมกับอาการปวดศีรษะ
  3. เลือดกำเดาไหล (epistaxis)
  4. เหนื่อยหอบขณะทำงาน หรือมีอาการเหนื่อยหอบจนนอนราบไม่ได้ แสดงถึงการมีภาวะหัวใจห้องล่างซ้ายล้มเหลว
  5. อาการอื่นๆ ที่อาจพบร่วม ได้แก่ อาการเจ็บหน้าอกสัมพันธ์กับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดจากการมีเส้นเลือดหัวใจตีบ หรือจากการมีกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวมากจากภาวะความดันโลหิตสูงที่เป็นมานานๆ

ภาวะแทรกซ้อนจาก โรคความดันโลหิตสูง

โรคความดันโลหิตสูง เป็นกลุ่มโรคไม่ติดต่อที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของคนไทย หากมีความดันโลหิตสูงเป็นระยะเวลานานและไม่ได้รับการรักษา จะเป็นเสมือนระเบิดเวลาที่ฝังอยู่ในตัวเรา รอวันแสดงอาการ ซึ่งโรคความดันโลหิตสูงก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่ออวัยวะที่สำคัญ ดังนี้

หัวใจ – เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา ผนังกล้ามเนื้อหัวใจขยายตัวใหญ่ขึ้นแต่ไม่แข็งแรง ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้น หลอดเลือดหัวใจหนาขึ้น เสี่ยงต่อการขาดเลือดได้ง่ายยิ่งขึ้น อาจเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว มีอาการหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ มีอาการขาบวม

สมอง – โรคความดันโลหิตสูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุดต่อการเกิดอัมพฤกษ์ อัมพาต ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดสมองตีบตันหรือเลือดออกในสมอง หากลดความดันโลหิตโดยเฉลี่ยลงมาได้ 10 มิลลิเมตรปรอท จะสามารถลดการเกิดอัมพฤกษ์ตลอดชั่วอายุได้ถึง ร้อยละ 20 อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง อาการที่แสดงออก คือ มีอาการปากเบี้ยว อ่อนแรงครึ่งซีก ชาครึ่งซีก หรืออาจมีภาวะสมองเสื่อม

ไต – ความดันโลหิตสูงเรื้อรังทำให้เนื้อไตที่เกี่ยวข้องกับการกรองของเสียออกจากร่างกายเสื่อม  ส่งผลให้ไตเสื่อมสมรรถภาพ  มีการสูญเสียโปรตีนออกมาในปัสสาวะ เกิดภาวะไตวายเฉียบพลันหรือไตวายเรื้อรังได้ อาจเป็นโรคไตเรื้อรัง มีอาการขาบวม ซีด ผิวแห้ง

ตา – ทำให้หลอดเลือดบริเวณจอรับภาพของตาแตก หรือมีเลือดออก ประสาทตาเสื่อม ตามัว และตาบอดได้ อาจเกิดความผิดปกติที่จอประสาทตา

หลอดเลือดแดงใหญ่ – เกิดการโป่งพองหรืออาจเกิดการฉีกขาดของผนังหลอดเลือด หากรุนแรงอาจเสียชีวิตได้

ความดันโลหิตสูงต้องระวัง และควรพบแพทย์

ผู้ที่มีภาวะใดภาวะหนึ่ง หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงดังต่อไปนี้ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ ในการทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงก่อนออกกำลังกาย

  • มีค่าความดันโลหิต SBP ≥ 180 มม.ปรอท หรือ DBP ≥ 110 มม.ปรอท
  • มีอาการเจ็บหน้าอกหรือหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะเมื่อออกแรงเล็กน้อยหรือขณะพัก
  • มีความเสี่ยง หรือเคยมีภาวะหัวใจล้มเหลว
  • มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • มีโรคเบาหวานที่ยังควบคุมระดับน้ำตาลได้ไม่ดี
  • มีภาวะเจ็บป่วยเฉียบพลันอื่นๆ
  • เป็นผู้สูงอายุ
  • มีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือสูบบุหรี่จัด

การป้องกันไม่ให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง

  1. หลีกเลี่ยงอาหารเค็มทุกชนิด โดยปริมาณเกลือที่รับประทานรวมทั้งวันไม่ควรเกิน 1 ช้อนชา หลีกเลี่ยงการปรุงรสเพิ่มด้วยน้ำปลา หรือ ซีอิ๊ว เนื่องจากอาหารไทยโดยพื้นฐานมีความเค็มมากอยู่แล้ว ควรบริโภคอาหารแบบสมดุลครบ 5 หมวด มีการหมุนเวียนการบริโภคอาหาร โดยเน้นผักและผลไม้ที่ให้สารอาหารโพแทสเซียม เช่น ฟักทอง บร็อคโคลี่ ผักโขม มะเขือเทศ มะละกอ กล้วย มะม่วง ฝรั่ง เป็นต้น ควรดื่มนมและผลิตภัณฑ์นมไขมันต่ำที่ให้แคลเซียม ธัญพืชและถั่วเปลือกแข็งที่ให้แมกนีเซียม และเส้นใยอาหาร เช่น ถั่วแดง เต้าหู้ งา เป็นต้น
  2. ควบคุมน้ำหนักตัว โดยสำหรับคนไทย เส้นรอบเอวไม่ควรเกิน ส่วนสูงของตัวเองหารด้วย 2
  3. ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อย 3-4 วัน ต่อสัปดาห์ วันละ 30-60 นาที
  4. งดหรือลดการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
  5. ผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป โดยเฉพาะผู้มีประวัติครอบครัวเป็นโรคความดันโลหิตสูง ควรตรวจวัดความดันโลหิตอย่างน้อยทุก 2 ปี และอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรตรวจความดันโลหิตอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
  6. ผู้ที่มีความดันโลหิตระหว่าง 120/80 ถึง 139/89 มม. ปรอท จัดเป็นกลุ่มเสี่ยง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง