เท้าเป็นอวัยวะที่อยู่ด้านล่างสุดของร่างกาย และมักเป็นส่วนที่หลายคนมองข้ามไป ซึ่งในความเป็นจริงอวัยวะส่วนนี้ถือว่าเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทมากมาย และมันยังเป็นอวัยวะที่ถูกใช้งานรองรับน้ำหนักตัวของเราทั้งหมด
การดูแลสุขลักษณะอนามัยจึงเป็นสิ่งจำเป็น สุขภาพที่ดีของเท้า ย่อมส่งผลต่อสุขภาพองค์รวมของร่างกายได้อย่างไม่น่าเชื่อ ดังที่เราจะเห็นได้จากการทำสปาแบบต่างๆ

ทางศูนย์ ไอเฮลท์ เนอร์ส แคร์ จึงเล็งเห็นความสำคัญของสปาและถือเป็นหนึ่งกิจกรรมของทางศูนย์ ไอเฮลท์ เนอร์ส แคร์ ได้จัดให้มีการสปาแช่น้ำอุ่นในกรณีผู้ที่ไม่มีข้อจำกัดเพื่อช่วยในการผ่อนคลายค่ะ😊

วันนี้ทางศูนย์ฯ ขอนำเสนอบทความดีๆ hd.co.th เกี่ยวกับการนวดเท้ามาให้ทุกท่านได้อ่านกันค่ะ

การนวดเท้า มีประโยชน์อย่างไร พร้อมข้อควรระวัง

การนวดเท้า เป็นวิธีบำบัดลดความตึงของกล้ามเนื้อ และเป็นอีกวิธีรักษาอาการเจ็บป่วยบางชนิด ที่ยังคงได้รับความนิยมมาจนถึงปัจจุบัน
โดยเฉพาะการนวดเท้าโดยใช้ศาสตร์การนวดแผนไทย ซึ่งเป็นนิยมเป็นอย่างมากในหมู่ชาวต่างชาติ
หลายคนมักจะคิดว่า การนวดเท้าคงมีประโยชน์แค่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อเท้าที่ใช้งานมาอย่างหนักเท่านั้น แต่ความจริงแล้ว การเท้ามีประโยชน์มากกว่านั้นหลายอย่าง

ความเป็นมาของการนวดเท้า

การนวดเท้า เป็นศาสตร์การรักษาเก่าแก่มาแต่โบราณ ที่ไม่สามารถหาแหล่งกำเนิดแน่ชัดได้ โดยศาสตร์การรักษานี้อาจเกิดขึ้นก่อนคริสตกาลหลายพันปี มีจุดมุ่งหมายเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยทั้งด้านร่างกาย และจิตใจของผู้ป่วย

สาเหตุที่การนวดเท้ากลายเป็นวิธีการรักษาอาการเจ็บป่วยที่ได้รับความนิยม เนื่องจากในช่วงปี 1930 ยูนิซ อิงแฮม (Dunice Ingham) นักกายภาพบำบัดชาวอเมริกัน ได้ค้นพบว่า เท้าสามารถตอบสนองต่อการนวดกดจุดได้ดีกว่ามือ

หลังจากนั้น เท้าจึงกลายเป็นจุดสำคัญในการบำบัดรักษาอาการต่างๆ และนำไปสู่การพัฒนาศาสตร์การนวดเพื่อฟื้นฟูในเวลาต่อมา

ความเชื่อมโยงระหว่างการนวดเท้ากับร่างกายส่วนอื่นๆ

มีการค้นพบว่า ทุกจุดบนอวัยวะทุกส่วนบนร่างกายของคนเรามีความเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด

โดยเราสามารถแบ่งการไหลเวียนของร่างกายได้ทั้งหมด 10 ส่วน แบ่งเป็นซีกซ้าย และซีกขวา ซีกละ 5 ส่วนตั้งแต่ศีรษะจนถึงเท้า โดยเริ่มจากโซนที่ 1 ซึ่งจะอยู่ชิดกับกึ่งกลางลำตัว ส่วนโซนที่ 2, 3, 4, 5 จะอยู่ถัดออกไปตามนิ้วหัวแม่มือไปจนถึงนิ้วก้อย

การนวดกดจุดที่ส่วนปลายเท้า ไม่ว่าจะด้านขวา หรือซ้าย จะมีผลต่ออวัยวะในด้านเดียวกัน เช่น หากกดจุดไปที่นิ้วด้านขวา ก็จะสะท้อนไปยังอวัยวะซีกขวา ยกเว้นส่วนของสมองที่จะสะท้อนไปยังซีกซ้ายแทน เนื่องจากการไขว้กันของเส้นประสาทบริเวณออปติกไคแอสมา (Optic chiasma) นั่นเอง

ประโยชน์จากการนวดฝ่าเท้า

การนวดฝ่าเท้ามีประโยชน์ดังนี้

1. การนวดเท้าช่วยบำรุงระบบไหลเวียนเลือด

ด้วยวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนในปัจจุบันที่ไม่ค่อยได้ลุกเดินไปไหน จึงทำให้ระบบไหลเวียนเลือดทำงานได้ไม่ปกติมากนัก รวมถึงทำให้กล้ามเนื้อเท้าตึง โดยเฉพาะบริเวณส้นเท้า

การนวดเท้าประมาณ 10-15 นาทีจะช่วยส่งออกซิเจนเข้าไปในเซลล์ของร่างกายมากขึ้น ทำให้การทำงานของร่างกายโดยรวมมีประสิทธิภาพ

2. การนวดเท้าช่วยให้กล้ามเนื้อผ่อนคลายมากขึ้น

การนวดเท้าช่วยให้คุณรู้สึกผ่อนคลายจากความเครียดได้ อีกทั้งทำให้กล้ามเนื้อที่ยึดตึงจากการเดิน หรือยืนมาทั้งวันคลายตัวลงได้ด้วย เวลาที่เหมาะสำหรับการนวดอาจเป็นช่วงเย็นก่อนที่คุณจะกลับบ้าน เพื่อที่ก่อนจะเข้านอน คุณจะได้รู้สึกสดชื่น และนอนหลับสนิทดียิ่งขึ้น

3. การนวดเท้าช่วยด้านจิตใจ

ผู้ที่มีปัญหาโรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า หรือตกอยู่ในความเครียด หากได้รับการนวด หรือสัมผัสกดจุด ร่างกายจะหลั่งสารเอนดอร์ฟีน (Endorphin) ทำให้รู้สึกมีความสุข รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

4. การนวดเท้าทำให้สุขภาพเท้าดียิ่งขึ้น

หากคุณมีอาการบาดเจ็บ หรือปวดเมื่อยเท้า หรือเป็นผู้ที่ทำอาชีพต้องเดินเยอะ ต้องมีการเขย่งเท้า หรือออกกำลังกายหนักบ่อยๆ ก็ควรไปใช้บริการนวดเท้าบ้าง เพื่อลดอาการเจ็บที่อาจมาจากบริเวณข้อเท้า หรือส้นเท้า อีกทั้งการนวดเท้ายังจะช่วยให้กล้ามเนื้อของคุณแข็งแรง และยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย

5. การนวดเท้าช่วยกระตุ้นอารมณ์ทางเพศ

เท้าเป็นบริเวณที่สามารถกระตุ้นอารมณ์ทางเพศได้ คุณอาจนำเคล็ดลับนี้ไปใช้กับเรื่องบนเตียงในชีวิตคู่ของคุณ โดยอาจเริ่มต้นจากการนวดเท้าให้คู่นอนเบาๆ ก่อน หากต้องให้การมีเพศสัมพันธ์เริ่มต้นได้ง่ายขึ้น

6. การนวดเท้าสามารถบรรเทากลุ่มอาการก่อนมีประจำเดือนและอาการวัยทอง

ผู้หญิงหลายคนต้องเผชิญอาการซึมเศร้า วิตกกังวล นอนไม่หลับ ปวดหัว อารมณ์แปรปรวนง่ายในช่วงก่อนมีประจำเดือน หรืออยู่ในช่วงวัยหมดประจำเดือนแล้ว คุณสามารถใช้การนวดเท้าเข้ามาลดอาการเหล่านี้ได้ โดยอาจนวดทุกวัน หรือวันเว้นวัน

วิธีเตรียมตัวก่อนนวดเท้า

วิธีการเตรียมตัวนวดเท้าไม่มีอะไรซับซ้อน แต่ผู้นวด และผู้ถูกนวดควรจะมีสมาธิ ผ่อนคลายทั้งร่างกาย และจิตใจก่อนเริ่มการนวด คุณไม่ควรใช้โทรศัพท์มือถือในระหว่างนวดเท้าด้วย เพื่อให้สภาวะจิตใจได้รับการผ่อนคลายอย่างเต็มที่

โดยก่อนนวดเท้า ให้คุณถอดรองเท้า และถุงเท้าออก จากนั้นให้ทำความสะอาดเท้าด้วยน้ำอุ่นประมาณ 5 นาที ก่อนจะเริ่มนวดเพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว และให้ผิวเท้าที่แห้งชุ่มชื้น

จากนั้นคุณอาจใช้ครีม หรือมอยเจอร์ไรเซอร์เพื่อทำให้เท้าลื่นนุ่ม ง่ายต่อการนวดมากขึ้นด้วย แต่หากต้องการให้รู้สึกผ่อนคลายที่สุด ก็ควรใช้น้ำมัน หรือแป้งฝุ่นจะดีที่สุด

แล้วหลังจากนั้นผู้นวดจะเริ่มนวดเท้า โดยเริ่มจากนิ้วเท้าไปจนถึงส้นเท้า ตามด้วยหลังเท้า ข้างเท้า และจะมีกด คลึงตามแต่ละจุด หลังจากนั้นจะนวดบริเวณขา โดยเริ่มจากบริเวณน่องขามาจนถึงหัวเข่า

เคล็ดลับการนวดเท้า

โดยปกติ ร้านนวด หรือคลินิกทำกายภาพบำบัดจะมีบริการนวดหลายแบบเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้เข้ารับบริการที่แตกต่างกันไป

มีเคล็ดลับการนวดเท้าเล็กๆ น้อยๆ ให้คุณบอกเจ้าหน้าที่ หรืออาจใช้นวดเท้าให้ตนเองได้ ดังนี้

  • นวดเพื่อเพิ่มความยืดหยุนแก่กล้ามเนื้อเท้า จะนวดโดยงอนิ้วหัวแม่เท้า เริ่มจากใช้มือข้างหนึ่งประคองส้นเท้าเอาไว้ ใช้มืออีกข้างจับปลายนิ้วเท้าทั้ง 5 แล้วยืดหมุนเป็นวงกลม จากนั้นทำซ้ำอีกครั้ง แต่เพิ่มแรงกด และงอปลายนิ้วเท้ามากขึ้น
  • นวดเพื่อลดความตึงของกล้ามเนื้อหลังเท้า เป็นการนวดเพื่อกดคลึงบริเวณส้นเท้าและหลังเท้า ให้อาการตึงของกล้ามเนื้อลดลงจากการรับน้ำหนักตัวมาทั้งวัน เริ่มจากจับส่วนปลายเท้า แล้วจับส้นเท้าด้วยมืออีกข้าง จากนั้นใช้นิ้วหัวแม่มือคลึง กดลงที่ส้นเท้า แล้วคลายออกซ้ำๆ
  • นวดเพื่อคลายความตึงของเอ็นร้อยหวาย เอ็นร้อยหวาย คือ เส้นเอ็นที่อยู่บริเวณถัดจากน่องลงมาตรงข้อเท้า ผู้ที่เดินหรือยืนเป็นเวลานานอาจรู้สึกตึงบริเวณนี้ วิธีนวดเพื่อผ่อนคลายความตึงของเอ็นร้อยหวายคือ จับช่วงเอ็นร้อยหวานด้วยนิ้วโป้งกับนิ้วชี้ แล้วกดคลึงเบาๆ จากนั้นกดนวดเพียงตื้นๆ รอบส้นเท้าข้างเดียวกัน ทำซ้ำๆ แบบนี้หลายครั้ง

ข้อควรระวังก่อนการนวดเท้า

ถึงแม้การนวดจะดีต่อสุขภาพแค่ไหน แต่ก็ยังมีข้อควรระวังหลายอย่างที่คุณจะต้องรู้ก่อนเริ่มนวด ทั้งตัวผู้นวด และผู้เข้ารับการนวด เช่น

  • ผู้ที่มีโรคประจำตัว เพราะการนวดอาจไปกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือด หรือบริเวณส่งที่อ่อนไหวจนส่งผลทำให้อาการของโรคร้ายแรงขึ้น เช่น โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิต โรคกระดูกพรุนรุนแรง
  • ผู้ที่ทำศัลยกรรมและผู้ที่ใส่ขาเหล็ก ข้อเทียม เพราะการนวด หรือกดคลึงที่ออกแรงมาก อาจไปทำให้ส่วนเสริมจากการทำศัลยกรรม หรือเสริมอยู่ในร่างกายเคลื่อนที่ไปจากตำแหน่งเดิมได้

นอกจากนี้ ผู้ที่แผลผ่าตัดยังไม่หายสนิท หรือสตรีมีครรภ์ ก็เป็นอีกกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเรื่องการนวดให้ดี ซึ่งไม่ใช่แค่นวดเท้าเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการนวดทุกส่วนของร่างกาย เพราะผู้ที่มีแผล เมื่อนวดแล้วแผลอาจเปิดได้ หรือหากตั้งครรภ์อยู่ การนวดอาจส่งผลต่อทารกในครรภ์

อีกข้อควรระวังสำคัญคือ คุณควรตรวจวัดอุณหภูมิความดันก่อนนวด หากมีอุณหภูมิเกิน 38.5 องศาเซลเซียส ความดันสูงเกิน 140 มิลลิเมตรปรอท และชีพจรเต้นแรงมากกว่า 80 ครั้ง ห้ามใช้บริการนวดเด็ดขาด

เพราะการนวดจะไปกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดและทำให้ความดันสูงขึ้น ความร้อนในร่างกายเพิ่มมากขึ้น อาจทำให้ผู้เข้ารับบริการมีไข้ เกิดความรู้สึกอ่อนเพลีย หรือหมดสติได้