ผู้สูงอายุหรือผู้สูงวัย เมื่อถึงเวลาที่พวกท่านแก่ตัวลง
ทุกอย่างในร่างกายได้เปลี่ยนแปลงไปทั้งระบบการทำงานของร่างกายที่ถดถอยลง เรื่องสภาพจิตใจที่ผู้สูงอายุเหล่านี้คิดถึงในเรื่องต่างๆไม่ว่าจะเรื่องกลัวเป็นภาระของลูกหลาน และสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไป


การดูแลผู้สูงอายุ

ปัญหาสุขภาพและอุบัติเหตุของผู้สูงอายุที่ควรระวัง

  1. การสำลักอาหาร
  2. ลื่นหกล้ม
  3. สมองเสื่อม
  4. ประสาทสัมผัสเสื่อม
  5. ปวดเมื่อยตามตัว

วิธีดูแลผู้สูงอายุ ต้องดูแลเป็นพิเศษในด้านต่างๆ ดังนี้

  1. สุขภาพทางร่างกาย
  2. สุขภาพด้านจิตใจ
  3. ด้านสภาพแวดล้อม
  4. ด้านอาหารและโภชนาการ

ปัญหาที่อาจพบเจอเมื่อดูแลผู้สูงอายุ

  1. ผู้สูงอายุ (อายุประมาณ60-80ปี) ไม่ชอบให้ใครอยู่ใกล้เพื่อดูแลเพราะท่านคิดว่าท่านไม่ได้เป็นภาระให้กับใคร ท่านสามารถดูแลตัวเองได้ และท่านไม่ต้องการให้คนอื่นมองว่าท่านเป็นคนอ่อนแอ
  2. ผู้สูงอายุ (อายุประมาณ 81 ปีขึ้นไป) จะเรียกร้องให้ผู้อื่นสนใจไม่ชอบการอยู่คนเดียว เรียกร้องความสนใจจากลูกหลาน สมาชิกทุกคนในครอบครัว ไม่ควรทิ้งท่านให้อยู่คนเดียว
  3. ผู้สูงอายุบางคนปากร้าย เอาแต่ใจ สภาพจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไป ผู้สูงอายุจะมีภาวะที่อาจจะเรียกว่าซึมเศร้า ที่จะแสดงสิ่งที่เก็บกดในเรื่องต่างๆ ออกมา โดยการอยากให้คนอื่นตามใจ หากบางอย่างที่ไม่ได้ดั่งใจ ก็จะดุด่าผู้ที่ดูแล
  4. จู้จี้ขี้บ่น ผู้สูงอายุจะจู้จี้ขี้บ่น หากใครทำอะไรแล้วไม่ถูกใจ หรือรับรู้เรื่องราวบางอย่างมา แล้วนำมาคิดไปเองบ่นออกมาให้ผู้ที่ดูแลรับฟัง หรือคอยจู้จี้เกี่ยวกับเรื่องต่างๆของคนในครอบครัว จนคนในครอบครัวไม่อยากเข้าหา คนในครอบครัวหรือผู้ที่ดูแล พยายามรับฟัง

การดูแลผู้สูงอายุจึงไม่ใช่เรื่องง่ายและก็ไม่ยากเกินไป หากผู้ดูแลเข้าใจในสิ่งต่างๆ ที่ผู้สูงอายุกำลังเผชิญอยู่ จึงจะทำให้ผู้สูงอายุทั้งหลายรู้สึกมีคุณค่าส่งผลให้มีสุขภาพกายและสุขภาพใจที่ดีตลอดปี และมีอายุที่ยืนยาวได้อยู่กับลูกหลานตลอดไป

แล้วปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลัก 5 อ. และลูกหลานควรปฏิบัติต่อท่านอย่างไร

(ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก โรงพยาบาลเปาโล มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ)

การปฏิบัติตนที่ถูกต้องและเหมาะสมตามหลักการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามหลัก 5 อ. ได้แก่

  1. อ.อาหาร รับประทานอาหารให้หลากหลาย ได้สัดส่วนเพียงพออิ่ม ครบ 5 หมู่ เน้นย่อยง่าย และสะอาด อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง เช่น อาหารที่มีไขมันสูง หวานจัด เค็มจัด และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
  2. อ. ออกกำลังกาย โดยออกกำลังกายทุกส่วนสัด กระตุ้นจังหวะการเต้นของหัวใจ ผู้สูงอายุควรเคลื่อนไหวออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม หลากหลายวิธี เช่น ยืดเส้นยืดสาย ยืดเหยียด ช่วยให้กล้ามเนื้อแข็งแรง เดินเร็ว ขี่จักรยาน ว่ายน้ำ เป็นต้น และหลีกเลี่ยง การแข่งขัน ออกแรงเกินกำลัง ความเร็วสูง เกร็ง เบ่ง ยกน้ำหนัก การอยู่ในสถานที่ร้อนอบอ้าว อากาศไม่ถ่ายเท อยู่กลางแดดจ้า
  3. อ.อารมณ์ คือ อารมณ์รื่นเริงยินดี ชีวีสดใสด้วยรอยยิ้ม จิตแจ่มใส มองโลกในแง่บวก ไม่เครียด ช่วยเหลือให้คำแนะนำแก่ลูกหลาน คนรอบข้าง
  4. อ.อดิเรก สร้างสรรค์งานอดิเรก เพิ่มพูนคุณค่า เกื้อกูลสังคม หากิจกรรมงานอดิเรกที่ชอบ ทำแล้วเพลิดเพลิน และมีคุณค่าทางจิตใจ เช่น อ่านหนังสือธรรมะ ฟังเทศน์ฟังธรรม พบปะสังสรรค์ ให้คำปรึกษาแนะนำฟังเพลง
  5. อ.อนามัย สร้างอนามัยดี ชีวีมีสุข นำพาอายุยืนยาว สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี หมั่นตรวจ และรักษาสุขภาพ ปฎิบัติตนให้ถูกสุขลักษณะ ควรตรวจสุขภาพอย่างน้อยปีละครั้ง ดูแลสุขภาพช่องปากและฟัน งด ละ เลิกอบายมุข บุหรี่ เหล้า ของมึนเมา และสารเสพติด

การที่ผู้สูงอายุจะมีสุขภาพแข็งแรงมีอายุยืนยาวอย่างมีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้นั้นไม่เพียงแต่การเตรียมความพร้อมหรือการปฏิบัติตัวผู้สูงอายุเองเท่านั้น ลูกหลาน ครอบครัวก็ควรใส่ใจดูแลผู้สูงอายุด้วย ทั้งนี้เพื่อช่วยให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพจิตที่ดี สมาชิกในครอบครัว อันประกอบด้วย ลูกหลาน ฯลฯ ควรปฏิบัติต่อผู้สูงอายุ ดังต่อไปนี้

10 ข้อ ที่ลูกๆ หลานควรปฏิบัติ

  1. ช่วยนำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่า มีความสำคัญและมีความหวังในชีวิต เช่น ขอคำแนะนำต่าง ๆ ขอความช่วยเหลือจากผู้สูงอายุให้ควบคุมดูแลบ้านเรือน เป็นที่ปรึกษาอบรมเลี้ยงดูลูกหลาน
  2. ควรระมัดระวังคำพูด หรือการกระทำที่แสดงออกต่อผู้สูงอายุ เน้นความสำคัญของผู้สูงอายุเป็นอันดับแรก ตัวอย่างเช่น เวลารับประทานอาหารเชิญชวนให้รับประทานอาหารก่อนและตักข้าวให้
  3. ชวนผู้สูงอายุเล่าเรื่องเหตุการณ์ประทับใจในอดีตของท่านให้ฟัง และรับฟังอย่างตั้งใจ จะทำให้ผู้สูงอายุรู้สึกว่า ยังมีคนชื่นชมในบางส่วนของชีวิตของตนอยู่
  4. อำนวยความสะดวกให้ผู้สูงอายุปฏิบัติกิจกรรมที่น่าสนใจต่าง ๆ เช่น เมื่อผู้สูงอายุต้องการไปวัดหรือศาสนสถานต่าง ๆ ลูกหลาน ควรจัดเตรียมข้าวของต่าง ๆ ให้ และจัดการรับส่งหรือเป็นเพื่อน
  5. เอาใจใส่ดูแลเรื่องอาหาร และการออกกำลังกายหรือทำงานตามความถนัดให้เหมาะสมกับวัย
  6. ที่พักอาศัย หากผู้สูงอายุต้องการแยกบ้านอยู่ หรือต้องการไปอยู่สถานที่ที่รัฐจัดให้ก็ควรตามใจ และพาลูกหลานไปเยี่ยมเมื่อมีโอกาส ถ้าหากผู้สูงอายุรู้สึกเป็นสุข และต้องการอยู่ร่วมกับลูกหลาน ก็ให้อยู่บ้านเดียวกัน เพื่อเกิดความรู้สึกอบอุ่น
  7. ช่วยให้ผู้สูงอายุมีโอกาสพบปะสังสรรค์กับญาติสนิท และเพื่อนร่วมวัยเดียวกัน โดยการพาไปเยี่ยมเยียน หรือเชิญเพื่อนฝูงญาติมิตร มาสังสรรค์ที่บ้านเป็นที่คลายเหงา พาไปสถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของผู้สูงอายุ เช่น วัด หรือชมรมผู้สูงอายุในชุมชน
  8. ให้ความสำคัญเห็นคุณค่า และเคารพยกย่องนับถือ ด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอนและข้อแนะนำจากผู้สูงอายุ ร่วมมือกันรักษาฟื้นฟูขนบธรรมเนียมประเพณีเดิมของไทย เช่น ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุเนื่องในวันสงกรานต์ เป็นต้น
  9. ให้อภัยในความหลงลืม และความผิดพลาดที่ผู้สูงอายุกระทำ และยิ่งกว่านั้น ควรแสดงความเห็นอกเห็นใจที่เหมาะสมด้วย
  10. ช่วยเหลือดูแลรักษาพยาบาลยามเจ็บป่วย หรือพาไปตรวจสุขภาพให้การดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อเจ็บป่วยหนัก เรื้อรัง