อาการปัสสาวะบ่อย (Frequency Urination) เป็นอาการหนึ่งที่รบกวนคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก อีกทั้งยังมีสาเหตุต่าง ๆ มากมายที่ทำให้เกิดอาการ ทำให้ผลการรักษาที่ออกมายังไม่เป็นที่น่าพอใจ โดยส่วนใหญ่ผู้ป่วยที่มีอาการปัสสาวะบ่อยมักจะได้รับการส่งมาปรึกษาศัลยแพทย์ทางเดินปัสสาวะ เนื่องจากคิดว่ามีสาเหตุมาจากความผิดปกติของทางเดินปัสสาวะเป็นหลัก
โดยปกติคนทั่วไปจะปัสสาวะกลางวันไม่เกิน 8 ครั้ง ปัสสาวะกลางคืนไม่เกิน 2 ครั้ง หากบ่อยกว่านี้อาจมีสาเหตุหรือความผิดปกติบางอย่างที่ควรระวัง ดังนี้
- โรคเบาหวาน
- โรคเบาจืด
- กระเพาะปัสสาวะอักเสบ
- กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกิน
- กระเพาะปัสสาวะถูกกดเบียดจากอวัยวะข้างเคียง เช่น เนื้องอกมดลูก เนื้องอกรังไข่ การตั้งครรภ์
- โรคไตเสื่อมเรื้อรัง ทำให้ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน
- ต่อมลูกหมากโต ในผู้ชาย
- การรับประทานยาหรืออาหารบางชนิด เช่น ยาขับปัสสาวะ อาหารหรือเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
- การดื่มน้ำมากเกินไป
ถ้ามีอาการปัสสาวะบ่อยเกินไป เบื้องต้นอาจลองลดปริมาณน้ำที่ดื่มร่วมกับหลีกเลี่ยงอาหารที่มีผลให้ปัสสาวะบ่อย จากนั้นสังเกตุว่ายังมีปัญหาปัสสาวะบ่อยอยู่หรือไม่ หากอาการดีขึ้นแสดงว่าสาเหตุเกิดจากอาหารและปริมาณน้ำที่รับประทาน แต่ถ้ายังคงปัสสาวะบ่อยผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป โรคที่ใครหลายคนไม่รู้ตัวว่าเป็น
ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไปเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของผู้ป่วย บางรายไม่รู้ตัวว่าเป็นอยู่หรือไม่รู้ตัวว่ามีอาการส่อแววว่าเข้าข่ายโรคนี้ โดยผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีอาการปวดปัสสาวะบ่อยกว่าคนทั่วไป ทุกครั้งที่ปวดจะมีอาการรุนแรงที่ต้องเข้าห้องน้ำให้ได้ อาจปวดทุกชั่วโมงจนไม่เป็นอันทำอะไร แม้แต่ตอนกลางคืนก็นอนไม่ได้เพราะต้องลุกมาเข้าห้องน้ำทั้งคืน สร้างความทุกข์ทรมานและความรำคาญให้กับผู้ที่เป็น
ในภาวะคนปกติ เมื่อมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะในปริมาณครึ่งหนึ่งของกระเพาะปัสสาวะ คนทั่วไปจะเริ่มรู้สึกหน่วงๆ ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าปวด แต่หากเดินผ่านห้องน้ำก็อาจจะแวะเข้าห้องน้ำ เพื่อปลดความหน่วงนั้นทิ้งไป แต่ถ้ายังหาห้องน้ำไม่ได้ หรือติดภารกิจอื่นอยู่ จะยังไม่ขวนขวายที่จะเข้าห้องน้ำ กระทั่งมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะจนเต็ม กระเพาะปัสสาวะจะเกิดการบีบตัวและปวดในที่สุด และเมื่อปวดคนปกติจะเข้าห้องน้ำและถ่ายปัสสาวะตามลำดับ
แต่ถ้าหากเป็นคนที่ผิดปกติหรือมีภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยเกือบทุกชั่วโมง หากเป็นเวลากลางคืนจะนอนไม่เพียงพอเพราะต้องลุกมาเข้าห้องน้ำทั้งคืน ซึ่งกระเพาะปัสสาวะจะเกิดการบีบตัวทั้งที่น้ำยังไม่เต็มกระเพาะปัสสาวะ เมื่อขับถ่ายออกมาจะมีปริมาณน้อยสวนทางกับอาการปวด เพราะคนที่มีภาวะนี้ จะรู้สึกปวดหนักมากและต้องเข้าห้องน้ำให้ได้ และอาจกลั้นไม่อยู่จนต้องปล่อยราดออกมา
สาเหตุที่แท้จริงของภาวะนี้
ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่สรุปได้คร่าวๆ ได้ว่ามีบางอย่างรบกวนการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ โดยทั่วไปเกี่ยวข้องกับระบบประสาทควบคุมที่ทำให้มีการบีบตัวไวเกินไป แต่อย่างไรก็ตามอาจมีโรคอื่นที่ไม่ใช่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน
หากมีการพบแพทย์ แพทย์จะทำการตรวจหาโรคอื่นก่อน เช่น ตรวจอาการอักเสบของกระเพาะปัสสาวะว่ามีหรือไม่ ตรวจว่ามีเม็ดเลือดแดงปนอยู่ในกระเพาะปัสสาวะหรือไม่ หรืออาจตรวจเลือดหาความผิดปกติ และตรวจดูการทำงานของไตว่ามีความบกพร่องหรือมีการกลั่นปัสสาวะบ่อยเกินไปหรือไม่ อาจต้องให้คนไข้จดบันทึกว่าภายใน 24 ชั่วโมง มีการดื่มน้ำเท่าไร ดื่มน้ำชนิดไหนบ้าง เช่น น้ำเปล่า น้ำส้ม กาแฟ เป็นต้น และดื่มในปริมาณเท่าไร มีการถ่ายปัสสาวะกี่ครั้ง เวลาไหนบ้าง มีอาการอื่นร่วมหรือไม่ เพื่อทำการประเมินต่อไป ระยะเวลาที่เหมาะสมสำหรับการจดบันทึกคือ 3 วัน จากนั้นแพทย์จะประเมินจากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อหาสาเหตุของการขับถ่ายปัสสาวะที่บ่อยกว่าคนปกติ
เพราะในผู้ป่วยบางรายพบว่ามีพฤติกรรมดื่มน้ำบ่อยทั้งที่ร่างกายยังไม่ทันขาดน้ำ อาจเกิดจากอาการคอแห้งบ่อย ก็เป็นสาเหตุให้ปัสสาวะบ่อยกว่าคนปกติได้ หรือบางคนชอบทานผลไม้ที่มีน้ำเป็นส่วนประกอบมากก็ทำให้ปัสสาวะบ่อยได้เช่นกัน ทั้งนี้ก็ต้องรู้ก่อนว่าคนไข้มีพฤติกรรมอย่างไร จึงจะทำการรักษาได้ถูกจุด หากพบว่าเป็นที่พฤติกรรมก็ต้องให้คนไข้ปรับพฤติกรรมตนเอง และอาการเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากภาวะบีบตัวไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะ และสังเกตได้ว่าการขับถ่ายแต่ละครั้งมีปริมาณที่สมเหตุสมผล
ซึ่งอาการปวดเกิดจากน้ำที่เต็มกระเพาะปัสสาวะ แตกต่างจากคนที่กระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวกว่าปกติที่มักขับถ่ายออกมาในปริมาณน้อยเพราะขับถ่ายทั้งที่น้ำยังไม่ทันเต็มกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้อาจมีการตรวจร่างกายต่อไปเป็นลำดับ หลังจากจดบันทึกพฤติกรรมของผู้ป่วยแล้ว และยังหาสาเหตุไม่พบ
ส่วนใหญ่ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปจะเกี่ยวข้องกับความผิดปกติของกระเพาะปัสสาวะโดยตรง
เช่น การอักเสบ เรื่องของโรคในกระเพาะปัสสาวะ เช่น มีนิ่วหรือก้อนเนื้องอก หรือความผิดปกติของอวัยวะข้างเคียง เช่น ในผู้หญิงอาจมีความผิดปกติของมดลูก เรื่องของฮอร์โมนที่ขาดไป แต่เรื่องสำคัญที่พบว่ามีความเกี่ยวข้องกันที่ต้องทำการแยกแยะ คือความผิดปกติของระบบประสาทสั่งการทั้งสมอง ไขสันหลัง และส่วนต่างๆ ทั้งหมด
สาเหตุแท้จริงนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด แต่พบว่ามีหลายอย่างมากระตุ้นได้ เช่น อุปนิสัย เครื่องดื่มบางชนิด การใช้ชีวิต อย่างเช่นบางคนอาจมีภาวะที่ต้องกลั้นปัสสาวะอยู่เรื่อยๆ รวมถึงอาหารบางอย่างมีคุณสมบัติในการเร่งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น คาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีรสจัด โซดา อาหารที่รสจัด เครื่องเทศ วาซาบิ เป็นต้น
ภาวะดังกล่าวสามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง
แต่อาจพบที่ช่วงอายุต่างกัน ในผู้หญิงมักพบในวัยทำงาน วัยมหาวิทยาลัย แต่ในผู้ชายจะพบเมื่ออายุมากกว่าอาจมาจากต่อมลูกหมากโตหรือการทำงานของสมองเริ่มบกพร่อง
วิธีสังเกตว่าตัวเองเข้าข่ายหรือไม่
ให้เปรียบเทียบความถี่ในการปวดปัสสาวะ หรือความถี่ในการเข้าห้องน้ำของตัวเองกับคนรอบข้าง อาจเป็นเพื่อนที่ทำงาน หรือญาติพี่น้องในวัยเดียวกัน หรือใกล้เคียงกัน และสังเกตความสามารถในการควบคุมปัสสาวะว่าสามารถทำได้มากน้อยแค่ไหน หากไม่สามารถควบคุมได้ พบปัญหาปัสสาวะราดบ่อยๆ หรือตอนกลางคืนลุกเข้าห้องน้ำจนไม่ได้นอน แบบนี้ก็เข้าข่ายผิดปกติที่ควรพบแพทย์
ผลกระทบจากภาวะดังกล่าวคือ
ทำให้ผู้ป่วยสูญเสียโอกาสบางอย่างในชีวิต เช่น การเดินทางไปในบางที่ก็อาจไม่กล้าไป เพราะกลัวจะปวดปัสสาวะระหว่างเดินทาง ไปได้เฉพาะสถานที่เดิมๆ ที่รู้ว่าห้องน้ำอยู่ไหน และอาจต้องวางแผนเตรียมการล่วงหน้าว่าเมื่อปวดจะสามารถวิ่งไปทิศไหนเพื่อเข้าห้องน้ำได้เร็วที่สุด อย่างโอกาสเดินทางไปต่างประเทศแทบไม่มีเลย อาจทำให้เก็บเนื้อเก็บตัว ไม่อยากเข้าสังคม ที่กลายเป็นปัญหาระยะยาวและส่งผลต่อการเกิดโรคซึมเศร้าได้ หากในผู้สูงอายุมีภาวะดังกล่าวแล้วลูกหลานไม่เข้าใจ อาจถูกทิ้งไว้ที่บ้าน หรือจะไปไหนสักครั้งก็ต้องสำรองเสื้อผ้าไว้เยอะๆ เพื่อรองรับการสับเปลี่ยนเมื่อปัสสาวะราด ส่งผลกระทบจิตใจอย่างเห็นได้ชัด ส่วนร่างกายอาจมีผื่นหรือกลิ่นไม่พึงประสงค์ เป็นต้น
ภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป ไม่อันตรายถึงชีวิต เพียงแต่จะรบกวนการใช้ชีวิตของผู้ป่วย ขึ้นอยู่กับการใช้ชีวิตของแต่ละท่านด้วย จึงจะประเมินได้ว่ากระทบมากน้อยแค่ไหน หากรู้สึกว่าเป็นอุปสรรคในการใช้ชีวิตมากๆ ก็ควรเข้ารับการรักษา ซึ่งในการรักษา แพทย์จะทำการตรวจดูก่อนเพื่อแยกเอาโรคอื่นออกไป โดยเฉพาะโรคที่อาการคล้ายๆ กัน เช่น โรคเบาหวาน เนื้องอกในสมอง เป็นต้น หากพบเจอโรคเหล่านี้ก็จะทำการรักษาโรคดังกล่าว แล้วภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไปก็จะหายไปเอง
แต่ถ้าหากตรวจไม่พบโรคอะไรเลย จึงจะทำการรักษาอาการบีบตัวไวเกินไปของกระเพาะปัสสาวะตามลำดับ ที่อาจเกิดจากพฤติกรรมของผู้ป่วย เช่น การรับประทานอาหารที่มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ
หากพบว่าคนไข้มีพฤติกรรมดังกล่าวก็ต้องให้คนไข้งดอาหารเหล่านั้น หรือการดื่มน้ำบ่อยในคนไข้บางราย หากพบว่ามีพฤติกรรมเหล่านี้ต้องให้คนไข้ปรับการดื่มน้ำ จากที่ดื่มตลอดทั้งวันก็ต้องเปลี่ยนไปดื่มเป็นช่วงๆ ในผู้หญิงอาจต้องฝึกฝนการขมิบ ช่วยบรรเทากระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไปได้เช่นกัน
นอกจากนี้การรับประทานยาเพื่อรักษาก็เป็นอีกหนึ่งวิธี ในกรณีที่ปรับพฤติกรรมแล้วไม่สำเร็จก็ต้องใช้ยา แต่ถ้าหากผู้ป่วยไม่สามารถทานยาได้จากภาวะบางอย่าง แพทย์ก็จะใช้วิธีการฉีดยาบางอย่างเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ เพื่อปรับสมดุลเส้นประสาท หากไม่ได้ผลอาจต้องใช้การผ่าตัด การใช้ไฟฟ้ากระตุ้น หรือกรรมวิธีที่มากขึ้นตามลำดับ
โรคดังกล่าวเป็นโรคที่ยังไม่รู้สาเหตุที่แท้จริงว่าเกิดจากอะไร จึงไม่ตอบไม่ได้ว่าสามารถรักษาให้หายขาดได้หรือไม่
แต่ที่ผ่านมาพบว่าหลายรายหายจากอาการเพราะไม่มีสิ่งกระตุ้น อาจเกิดจากการปรับพฤติกรรม หรือจากปัจจัยอื่น บางรายก็หายเองตามธรรมชาติ โดยที่แพทย์ไม่ต้องทำอะไร หรือบางรายก็เป็นๆ หายๆ โดยโรคดังกล่าวผู้ป่วยจำนวนมากสามารถดูแลตัวเองได้ ขึ้นอยู่กับการชีชีวิตประจำวัน และระดับความรุนแรงที่เกิด อย่างในคนที่ต้องขับรถตลอด ภาวะดังกล่าวอาจรบกวนมากกว่าคนทั่วไป เป็นต้น บางคนก็มีวิธีที่แตกต่างในการจัดการกับตนเอง เช่น การใส่ผ้าอ้อม การใช้อุปกรณ์อื่นเสริม ที่สามารถช่วยได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก รศ. นพ. ภควัฒน์ ระมาตร์ โรงพยาบาลศิริราช ปิยมหารายการุณย์, โรงพยาบาลสินแพทย์ และ บทความของ ศ. นพ. วชิร คชการ สาขาวิชาศัยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ