ภาวะความดันโลหิตสูง ไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัด แต่มีปัจจัยร่วมบางอย่างที่ทำให้ความดันโลหิตสูง โดยมากกว่าร้อยละ 90 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะไม่ทราบสาเหตุ แต่อาจเกิดจาก 2 ปัจจัยคือ พันธุกรรมและพฤติกรรม และน้อยกว่าร้อยละ 10 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเป็นความดันโลหิตสูงชนิดที่ทราบสาเหตุ เช่น ความดันโลหิตสูงจากการใช้ยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือการเกิดเนื้องอกของต่อมหมวกไต เป็นต้น
ความดันโลหิตสูงเป็นหนึ่งในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สำคัญทางสาธารณสุขที่ควรได้รับการเอาใจใส่ดูแล เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองและโรคไตวายระยะสุดท้าย พื้นฐานการดูแลสุขภาพที่สำคัญสำหรับการควบคุมความดันโลหิตสูง ได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมทางสุขภาพของตนเองและการรักษาโดยการรับประทานยา การดูแลสุขภาพดังกล่าวจะทำให้ผู้มีภาวะความดันโลหิตสูงมีสุขภาพที่ดีและสามารถอยู่ได้อย่างเป็นปกติสุข
ความหมายของความดันโลหิต
“ความดันโลหิต” เป็นแรงดันที่ผลักต้านภายในหลอดเลือดในระบบไหลเวียนโลหิต มีค่าตัวเลข 2 ค่า ได้แก่
- ความดันโลหิตซีสโตลิก เป็นค่าความดันขณะที่หัวใจบีบตัวเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย
- ความดันโลหิตไดแอสโตลิก เป็นค่าความดันขณะหัวใจคลายตัว
ดังนั้นการรายงานผลความดันโลหิตจึงประกอบด้วยตัวเลข 2 ตัวเสมอ เช่น วัดความดันโลหิตได้ 120/80 มิลลิเมตรปรอท
ความหมายของค่าความดันโลหิตแต่ละระดับ
- ความดันโลหิตซีสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)
- น้อยกว่า 120 ความดันโลหิตปกติ
- 120-139 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
- 140 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
- ความดันโลหิตไดแอสโตลิก (มิลลิเมตรปรอท)
- น้อยกว่า 80 ความดันโลหิตปกติ
- 80-89 ระดับก่อนการเป็นความดันโลหิตสูง
- 90 ขึ้นไป ความดันโลหิตสูง
อย่างไรก็ตามจากการแนวปฏิบัติสำหรับการป้องกัน การค้นหา การประเมินและการจัดการของระดับความดันโลหิตสูงในผู้ใหญ่ ปี ค.ศ.2017 ได้มีการปรับเปลี่ยนจุดตัดของการวินิจฉัยภาวะความดันโลหิตสูง โดยใช้จุดตัด 130/80 มิลลิเมตรปรอท ซึ่งสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากแนวปฏิบัติดังกล่าว
ควรทำอย่างไรเมื่อพบว่าความดันโลหิตสูง
- การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ให้ทำทุกรายแม้ในรายที่ ยังไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูงก็อาจป้องกันหรือ ชะลอการเป็นโรคความดันโลหิตสูงได้
- การให้ยาลดความดันโลหิต ไม่จำเป็นต้องเริ่มยาทุกราย และผู้ป่วยที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงบางรายอาจไม่ต้องใช้ยาก็ได้ หากสามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ถ้าความดันโลหิตไม่ลดลงหลังจากปรับพฤติกรรม เป็นระยะเวลา 3-6 เดือน จึงจำเป็นต้องใช้ยา
การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
วิธีการ | ข้อแนะนำ | ช่วยลดความดันโลหิตได้ |
---|---|---|
การลดน้ำหนัก | ให้ดัชนีมวลกาย * (Body mass index) = 18.5-24.9 กก./ตร.ม. | 5-20 มม.ปรอท ต่อการลดน้ำหนักตัว 10 กก. |
การควบคุมอาหาร | ให้รับประทานผัก ผลไม้ที่ไม่หวานจัดให้มาก ลดปริมาณไขมันในอาหารโดยเฉพาะไขมันอิ่มตัว | 8-14 มม. ปรอท |
จำกัดเกลือในอาหาร | ไม่ควรบริโภคเกลือมากกว่า 6 กรัมต่อวัน (เกลือ 1 ช้อนชา หนักประมาณ 5 กรัม) | 2-8 มม.ปรอท |
การออกกำลังกาย | ควรออกกำลังกายชนิด aerobic อย่างสม่ำเสมอ เช่น การเดินเร็วๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน (อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน และเกือบทุกวัน) | 4-9 มม.ปรอท |
งดหรือลดแอลกอฮอล์ | จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์ไม่เกิน 2 drinks/วัน ในผู้ชาย (ethanol 30 กรัม/วัน เช่น เบียร์ 720 มล., ไวน์ 300 มล. ,วิสกี้ที่ยังไม่ผสม 90 มล.) และไม่เกิน 1 drink/วันในผู้หญิงและคนน้ำหนักน้อย | 2-4 มม.ปรอท |
งดสูบบุหรี่ |
*(ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว (กก.)/ส่วนสูง (เมตร)2)
ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ เนื่องจากร้อยละ 95 ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงจะเป็นชนิดที่ไม่ทราบสาเหตุ การรับการติดตามรักษาที่ดีจะช่วยป้องกันโรคแทรกซ้อนได้ ผู้ป่วยบางรายเมื่อรักษาไประยะหนึ่ง แล้วรู้สึกสบายดีจึงหยุดกินยา ทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นจนทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนจึงมาพบแพทย์ ทำให้ไม่สามารถป้องกันทั้งอัมพาต และโรคหัวใจเฉียบพลันได้
ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก rama channel และ โรงพยาบาลสมิติเวช มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ