ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เกิดจากการปิดกั้นของทางเดินหายใจขณะหลับ  ทำให้อากาศไม่สามารถผ่าน หรือผ่านได้น้อย ส่งผลให้เกิดภาวะออกซิเจนในเลือดลดลง มีก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในเลือดสูง ความดันโลหิตสูงขึ้น ระบบประสาทอัตโนมัติทำงานมากขึ้น และเพื่อที่จะลดภาวะการหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ สมองจะเกิดการตื่นขึ้น บางครั้งสั้นมากเป็นวินาที ซึ่งผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัวว่าตื่น เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นหลายครั้งในหนึ่งคืน ในรายที่มีอาการมากอาจเกิดขึ้นมากกว่าร้อยครั้งใน 1 ชั่วโมง ส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดี ตื่นมาไม่สดชื่น รู้สึกอ่อนเพลีย การจดจำไม่ดี เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และในที่ทำงานซึ่งพบได้บ่อย

จากการศึกษาพบว่าภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน การดื้อต่ออินซูลิน ภาวะอ้วนลงพุง นอกจากนี้ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นยังพบได้บ่อยในผู้ที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง และหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเป็นไปได้ว่าภาวะหยุดหายใจระหว่างการนอนหลับอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเหล่านี้ ภาวะที่มีการปิดกั้นของทางเดินหายใจส่วนต้น ทำให้ลมหายใจลดลง หรือขาดหายเป็นระยะ มีผลทำให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง และกระตุ้นสมองให้ตื่นตัวไม่สามารถนอนหลับต่อเนื่องได้ตามปกติ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น เป็นภาวะที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มโรคที่มีการหายใจผิดปกติในช่วงการนอนหลับ ในปัจจุบันมีแนวโน้มพบภาวะนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์โรคอ้วนนั่นเอง เราสามารถแบ่งความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ ดังนี้

  • การหยุดหายใจ (Apnea) คือ ภาวะที่อากาศไม่สามารถผ่านทางเดินหายใจได้
  • การหายใจแผ่ว (Hypopnea) คือ ภาวะที่อากาศผ่านทางเดินหายใจลดลง

การตรวจการนอนหลับ (Polysomnography) มีหลายวิธี ได้แก่

  • ตรวจการนอนหลับ ด้วยมาตรฐานในห้องปฎิบัติการ In lab Polysomnography
  • ตรวจการนอนหลับนอกสถานที่ Home Sleep Test โดยใช้ค่า Apnea Hypopnea Index (AHI) ในการบอกความรุนแรง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น วินิจฉัยได้จากการหยุดหายใจ หรือหายใจแผ่วอย่างน้อย 5 ครั้งต่อชั่วโมง โดยค่านี้ได้มาจาก Apnea บวกกับ Hypopnea และหารด้วย Total sleeptime หรือ ระยะเวลาที่หลับ คูณด้วย 60 ซึ่งก็ คือ จำนวนครั้งที่เกิดภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจในหนึ่งชั่วโมง

ความรุนแรง ของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

  • AHI น้อยกว่า 5 ต่อชั่วโมง คือ ปกติ
  • AHI มากกว่า หรือเท่ากับ 5 แต่น้อยกว่า 15 ต่อชั่วโมง คือรุนแรงน้อย
  • AHI มากกว่า หรือเท่ากับ 15 แต่น้อยกว่า 30 ต่อชั่วโมง คือรุนแรงปานกลาง
  • AHI มากกกว่า หรือเท่ากับ 30 ต่อชั่วโมง คือรุนแรงมาก

อาการที่พบบ่อย ได้แก่ กรนเสียงดัง ง่วงนอนตลอดเวลา ตื่นนอนมาแล้วรู้สึกไม่สดชื่น อ่อนเพลีย นอนกระสับกระส่าย ตื่นตอนกลางคืนเพราะหายใจไม่ออก หรือสำลัก ปวดศีรษะ ปากแห้ง เจ็บคอหลังตื่นนอนปัสสาวะตอนกลางคืน หลายครั้งสมาธิการจดจำไม่ดี กรนเสียงดัง หรือมีอาการหายใจเฮือก

ใครบ้าง ที่เสี่ยง

น้ำหนักตัวมาก พบว่าร้อยละ 60 ของผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ตั้งแต่ 15 ครั้ง ต่อชั่วโมง เกิดจากโรคอ้วน ส่วนสาเหตุในคนที่น้ำหนักปกติ เกิดจากโครงสร้างของใบหน้า และกะโหลกศีรษะ ต่อมทอนซิล และอดีนอยด์โต คอหนา ลิ้นโต ภาวะหมดประจำเดือน โรคทางต่อมไร้ท่อ ได้แก่ ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย โรคกล้ามเรื้ออ่อนแรงบางชนิด การดื่มสุรา การใช้ยานอนหลับ คัดจมูก หายใจไม่สะดวกจากโพรงจมูกบวม หรือจากโครงสร้างจมูกที่ผิดปกติ จะส่งผลให้ภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับแย่ลง ควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อทำการตรวจวินิจฉัย โดยแพทย์จะทำการซักประวัติ และตรวจร่างกาย ดูประวัติโรค และทำการตรวจโรคร่วม แล้วพิจารณาตรวจการนอนกลับ (Polysomnography) ทั้งนี้ การตรวจโดยมาตรฐาน ผู้ป่วยต้องนอนในโรงพยาบาล 1 คืน ภายใต้การดูแลของเจ้าหน้าที่ผู้ชำนาญการ  โดยจะทำการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจคลื่นสมอง (EEG) โดยตรวจวัดร่วมกับการเคลื่อนไหวของตา (EOG) และคาง (Chin EMG) เพื่อวัดระดับการนอน (Sleep Stages) ว่ามีรูปแบบอย่างไร เช่น ตื่น หลับตื่น หลับลึก หรือฝัน มากน้อยเพียงใด

การตรวจการหายใจ สามารถวัดได้ว่าภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับมีความรุนแรงระดับใด กี่ครั้งในช่วงเวลาที่ทำ ตรวจระดับออกซิเจน อัตราการเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของขาและแขน นอกจากนี้ การตรวจการนอนหลับนอกสถานที่ Home Sleep Test มีข้อดี คือ สะดวกแก่ผู้ป่วย การติดตั้งไม่ยุ่งยาก โดยสามารถนำเครื่องไปติดตั้งเองที่บ้าน โดยแพทย์จะพิจารณาว่าผู้ป่วยรายใดมีเหมาะสมในการเลือกการตรวจชนิดนี้ เนื่องจากมีความแม่นยำน้อยกว่ามารับการตรวจที่โรงพยาบาล

การรักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น

การใช้เครื่องช่วยหายใจแรงดันบวก (Continuous Positive Airway Pressure) หรือ CPAP คือ การรักษามาตรฐาน สามารถลดอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้นได้เมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง

https://youtu.be/OpRF6P7_3Cg

ขอขอบคุณบทความดีๆ จาก โรงพยาบาลเปาโล มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ