โรคอัลไซเมอร์ พบมากถึง 60-80% ของผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมทั้งหมด เกิดจากเซลล์ในสมองตายหรือไม่ทำงาน ทำให้สมองส่วนที่เหลือทำงานได้ไม่เต็มที่ และหากปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้รับการรักษา จะเกิดภาวะสมองเสื่อมรุนแรงขึ้น จนในที่สุดผู้ป่วยอัลไซเมอร์ก็ไม่สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้
10 สัญญาณเตือน โรคอัลไซเมอร์
- สูญเสียความทรงจำ
- วางของไม่เป็นที่เป็นทาง
- สับสนกับสถานที่ และเวลา
- ไม่สามารถทำสิ่งที่คุ้นเคยได้
- ลำบากในการเขียน หรือพูด
- ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้ไม่ดี
- มีปัญหากับการทำความเข้าใจ กับภาพที่เห็น
- มีปัญหากับการวางแผน หรือการแก้ไขปัญหา
- อารมณ์ และลักษณะนิสัยเปลี่ยนแปลงไป
- ขาดความสนใจสิ่งรอบตัว หรือสิ่งที่เคยชอบ
ความรุนแรงของโรคอัลไซเมอร์
อาการของโรคอัลไซเมอร์จะกินเวลาหลายปี และแสดงอาการตามระยะเสื่อมของสมอง 3 ระยะ ดังนี้
อาการสมองเสื่อมระยะแรก
อาการระยะแรกของผู้ป่วยโรคอัลไซเมอร์ เริ่มจากขี้หลงขี้ลืม ลืมเรื่องที่เพิ่งพูดไปหรือลืมเรื่องราวที่เพิ่งเกิดขึ้น มีพฤติกรรมย้ำคิดย้ำทำ ชอบถามคำถามเดิมๆ ซ้ำๆ มีความลังเล ไม่สามารถตัดสินใจเรื่องง่ายๆ ได้ ทำให้มีความวิตกกังวลมากขึ้น ตื่นตกใจง่าย และอาจมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงได้
อาการสมองเสื่อมระยะปานกลาง
ในผู้ป่วยบางรายที่มีอาการเข้าขั้นสมองเสื่อมระยะแรก และคิดว่าเป็นเพียงความหลงลืมชั่วคราว หรือเป็นเรื่องปกติ อาจเป็นความคิดที่ผิดได้ เพราะหากปล่อยทิ้งไว้ ปัญหาความจำอาจแย่ลงจนไม่สามารถจำชื่อคนรู้จักได้ ไม่สามารถลำดับเครือญาติ หรือแยกคนใกล้ชิดได้ว่าใครเป็นใคร รวมถึงอาจมีอาการสับสน ลืมวันเวลา ประกอบกับนอนไม่หลับ และที่พบบ่อยคือหลงทาง หาทางกลับบ้านเองไม่ได้ ความรุนแรงของอาการสมองเสื่อมระยะนี้ อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีอารมณ์เปลี่ยนแปลงง่ายกว่าปกติ หรือรุนแรงถึงทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะซึมเศร้าได้
อาการสมองเสื่อมระยะสุดท้าย
อาการระยะที่รุนแรง ผู้ป่วยจะเกิดภาพหลอน เรียกร้องความสนใจ หรือก้าวร้าวขึ้น มักมีอาการทางกาย เช่น เคี้ยวอาหารและกลืนได้ลำบาก เคลื่อนไหวช้าลง หรือไม่สามารถเดินเองได้ ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ เช่น ป้อนข้าว อาบน้ำ เป็นต้น
การชะลอการเกิดอัลไซเมอร์
การดำเนินชีวิตอย่างรักสุขภาพ จะส่งผลดีต่อสมอง ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์และโรคสมองเสื่อมอื่นๆ ได้ โดยการปฏิบัติดังนี้
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายและสมอง
- ไม่สูบบุหรี่ และไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- ทำกิจกรรมการกระตุ้นความคิดอยู่เสมอ
รายงานหนึ่งระบุว่า ผู้ที่มีกรรมพันธุ์โรคอัลไซเมอร์ จะมีความเสี่ยงสูง แต่หากดูแลสุขภาพอย่างดี สามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ลงได้ถึง 32% เมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ชีวิตแบบไม่ใส่ใจสุขภาพ
สำหรับอีกรายงานได้ยืนยันว่า การพักอาศัยในบริเวณที่มีมลภาวะสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์สูงด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ยังพบอีกว่า ผู้หญิงสูงวัยที่ใช้สมองอยู่เสมอ มีศักยภาพการทำงานสูง (วัดจากคะแนนการทำงานของสมอง ระยะเวลาที่เรียนหนังสือ หน้าที่การงาน และกิจกรรมทางกายภาพ) มีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นเพียง 21% ต่างจากผู้ที่ไม่ค่อยได้บริหารสมอง จะมีความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์เพิ่มขึ้นถึง 113%
การรักษา
ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาใดที่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ มีเพียงการรักษาให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและ สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยการใช้ยายับยั้งสารอะเซตีลโคลีนเอสเทอเรส (Acetylcholinesterase) เพื่อลดการทำลายสารความจำในสมอง นอกจากนี้ผู้ป่วยยังควรต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมถึงควบคุมอาการของโรคประจำตัวอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง
ขอขอบคุณบทความดีๆ จากโรงพยาบาลสมิติเวช มา ณ ที่นี้ด้วยนะคะ